ผู้เขียนคลุกคลีกับอุตสาหกรรมยางมากว่า 35 ปี รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการยางมากมาย แต่ยังไม่เห็นใครหรือหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคายางธรรมชาติตกต่ำ กฎระเบียบการส่งออกน้ำยางและยางธรรมชาติที่กำลังตามมา อุตสาหกรรมยางเรายังขาดการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและการตลาด การวิจัยในภาคการศึกษาก็ย่ำอยู่กับที่ อีกทั้งการวิจัยส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเชิงทฤษฎีและทำยังซ้ำๆ ในหัวข้อเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลออกมาพูดอยู่บ่อยครั้งว่าต้องการเห็นการวิจัยที่สามารถนำไปพัฒนาเทคโนโลยีอันนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยหลายแห่งก็มีแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการจากภาคการศึกษาหรือเติบโตขึ้นในสายราชการ เป็นผู้กำกับนโยบายและกำกับดูแลองค์กรการวิจัยของชาติ แม้จะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงภายนอกหรือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แต่มีน้อยคนนักที่คิดจะเปลี่ยนการบริหารและจัดการกับการพัฒนาเทคโนโลยียางของประเทศ ทำให้แนวทางงานวิจัยจากภาครัฐและภาคการศึกษาไม่เกิดประสิทธิภาพและทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เรามีการยางแห่งประเทศไทยที่มีรายได้จากผู้ส่งออกยางธรรมชาติที่ดูแลเรื่องของต้นน้ำ ควรจะเข้ามาทำการแก้ปัญหายางกลางน้ำอย่างเต็มรูปแบบซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร อีกทั้งไม่ได้เร่งรัดในการเข้าไปช่วยแก้ไขการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบการส่งออกของน้ำยางและยางแห้งที่ต้องดำเนินการและผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วจริงๆ แม้ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากที่จะเป็นผู้นำในด้านยาง เพราะเราเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก เราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของน้ำยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมถุงมือยาง เรามีโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางใช้ทั้งในประเทศและส่งออกให้แข็งแกร่งได้ อีกทั้งเรามีคณาจารย์ที่จบด้านโพลิเมอร์จากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายสถาบัน สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมยางและยางธรรมชาติมีความเป็นเลิศได้ ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับนักวิชาการหลายๆ ท่านที่มีประสบการณ์ด้านยาง ต่างให้ข้อคิดและพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่มีคำตอบในเรื่องของวิธีแก้ไขและการเปลี่ยนแปลงการจัดการยางไทยอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรมีกลุ่มคนที่กล้าออกมาชี้นำทิศทางการยางและอุตสาหกรรมยางของประเทศไทย ชี้นำนโยบายทั้งการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ มีผู้มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในวิชาชีพมาชี้ให้เห็นว่าเราต้องเริ่มต้นจากภาคการศึกษา เนื่องด้วยการศึกษาในบ้านเรายังขาดการพัฒนาอย่างจริงจัง การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ อันจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมได้
จริงๆ แล้วผู้เขียนเองก็ต้องมีส่วนผิดในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะใช้เวลากว่า 35 ปีในอุตสาหกรรมยาง 15 ปีกับการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เป็นกรรมการในสภาอุตสาหกรรม เป็นกรรมการสถาบันวิจัยแห่งชาติ กรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางของสภาอุตสาหกรรม และเป็นกรรมการหลักสูตรและวิชาการในสาขาอื่นๆ รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลับอยู่กับปัญหาจนเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ 3 ปีที่เข้ามาเป็นประธานกลุ่มสาขายาง สมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีคณาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาการยางเก่งๆ หลายท่านมาร่วมเป็นกรรมการด้วย เราหันกลับมามองดูสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของสถานการณ์ยางในบ้านเรา มองดูพันธกิจของกลุ่มยางและกรรมการชุดนี้จึงทำให้ผู้เขียนมองเห็นปัญหาต่างๆ มากมายเหล่านี้ทั้งในวงการยาง วงการศึกษา และการวิจัยในมหาวิทยาลัย ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ “เรื่องธรรมดา” ที่ไม่ควรละเลย เราควรมีการจัดการ เปลี่ยนแปลงและแก้ไข เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในเร็ววัน เมื่อมองจากมุมมองทางการตลาด รวมทั้งมุมมองจากนักบริหารที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้เราเริ่มต้นจากการจัดสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาและทิศทางที่ต้องแก้ไข สิ่งที่ต้องทำสำหรับอุตสาหกรรมยางและยางธรรมชาติ ผลจากการจัดสัมมนาทำให้ผู้เขียนเริ่มมองหาหนทางที่จะดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ผู้เขียนเริ่มคุยกับกรรมการกลุ่มสาขายางฯ และน้องๆ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางของสภาอุตสาหกรรมที่หาหนทางเชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการกับกลุ่มอุตสาหกรรม หารือและศึกษาความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและวิธีการสอนกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเพื่อหาหนทางปรับวิธีการสอนแบบ Passive Learning มาสู่การเรียนการสอนแบบ Active Learning อีกทั้งเริ่มมองหาหนทางที่แก้ปัญหายางไทย โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องที่จะพัฒนายางธรรมชาติไทยสู่อุตสาหกรรมโลก โดยเริ่มต้นที่สหกรณ์ชาวสวนยางที่จังหวัดตรัง เราเรียกโครงการนี้ว่า “Trang Model” สิ่งที่กล่าวมาเป็นตัวจุดประกายให้ผู้เขียนมีไฟในการเขียนหนังสือ “โลกของยาง 2” นี้ขึ้นมา
ผู้เขียนสัมภาษณ์ผู้อยู่ในสถาบันการวิจัย นักวิจัยยาง และอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนมาเป็นแนวทางในการนำเสนอข้อคิดดีๆ ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน ในวงการอุตสาหกรรมยาง คณาจารย์และนักวิจัย อีกทั้งผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีของประเทศ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา รวมถึงสังคมและอุตสาหกรรมไทย พวกเราทุกคนในประเทศนี้ต้องร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การวางระบบและการบริหารการจัดการเทคโนโลยีของประเทศ นโยบายการยาง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และระเบียบกฎเกณฑ์ในการส่งออก อีกทั้งการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ได้เยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต เป็นคนดี คนเก่ง กล้าคิด กล้าพัฒนาความรู้ความสามารถและเทคโนโลยี อยากเห็นอาจารย์ในระดับอุดมศึกษารวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยประเทศ เปลี่ยนมุมมองและวิธีการบริหาร การวิจัยเชื่อมโยงความรู้ระหว่างนักวิจัยและผู้มีส่วนได้เสียของการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและความยั่งยืนของประเทศ
หมายเหตุ: ขณะที่กำลังเขียนหนังสือ “โลกของยาง 2” อยู่นี้เป็นช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทุกชีวิตกำลังเข้าสู่ “New Normal” หลังเกิดโควิด-19 ประเทศไทยเราจะต้องเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย นอกจากปัญหาปากท้องของคนกว่า 67 ล้านคนที่เกิดขึ้นจากการปิดธุรกิจทั้งประเทศ ยังส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่หยุดชะงัก อุตสาหกรรมเกือบทุกอุตสาหกรรมถูกกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สายการบินแห่งชาติ Thai Airway ต้องเข้าสู่ศาลสู้เพื่อการฟื้นฟู โรงแรมระดับ 3 ดาว 4 ดาว ต่างประกาศขายกิจการ บริษัทพานาโซนิคที่ตั้งโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าในประเทศไทยมากว่า 40 ปี ประกาศยุติการผลิตในประเทศไทยและย้ายฐานการผลิตใหญ่ไปประเทศเวียดนาม การผลิตยานยนต์ในประเทศไทยมีการคาดคะเนว่าจะลดลง 50% สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์กำลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนั่นคือการประกาศมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) ของยางล้อที่นำเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ทุกสิ่งชี้ไปถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นกับความเป็นอยู่ของทุกๆ คนในธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลถึงรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย (และทั่วโลก) การฟันฝ่าอุปสรรคคือภารกิจที่หนักหน่วงของผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรทุกองค์กร ทั้งนี้ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมจำต้องออกมาแสดงความเป็นผู้นำในการแปรเปลี่ยนการจัดการและบริหาร ในการนำพาผู้คนในองค์กรให้พ้นวิกฤตทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และความอยู่รอดของชาวไทยเรา การบริหารแบบเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ ไม่กล้าหรือไม่มีการตัดสินใจของผู้นำองค์กร ยังยึดติดกับวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ ต้องออกมาทำการเปลี่ยนแปลง วินาทีนี้คือเวลาที่ดีที่สุด วิกฤติคือเวลาที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ความเป็นผู้นำ นี่คือเวลาที่ผู้นำทั้งหลายจะแสดงความสามารถที่กล้านำการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคต เพื่อความอยู่รอดของประเทศและองค์กรภายใต้การนำของท่าน
ดร.บัญชา ชุณหสวัสดิกุล